หลายปีมานี้เกมแนว Simulation แนวสร้างเมืองใช้ชีวิต สร้างห้องสร้างบ้าน ถือเป็นเกมที่ได้รับความนิยมและมีเกมใหม่ ๆ เปิดตัวออกมาเยอะมาก ซึ่ง “Bear and Breakfast” คือหนึ่งในเกมเหล่านั้น แต่เกมนี้พิเศษมากกว่าหน่อย ตรงที่ตัวเกมนอกจากจะใช้สไตล์ภาพและมุมมองการเล่นแบบเกม Stardew Valley แล้ว ตัวเกมยังใช้งานภาพและตัวละครที่น่ารัก แถมมีระบบที่สนุกมาก ๆ อีกด้วย
เกี่ยวกับตัวเกม
Bear and Breakfast เป็นเกมแนว Simulation ของค่าย Gummy Cat และ Armor Games Studios ตัวเกมลงให้กับเครื่องเกม Nintendo Switch และ Steam เมื่อช่วงกรกฎาที่ผ่านมา โดยบน Steam มีราคาอยู่แค่ 289 บาทเท่านั้น ใครที่อยากได้เกมชิล ๆ สามารถดูดเวลาเราได้แบบเล่นตอน 8 โมงเช้า รู้ตัวอีกทีก็ 6 โมงเย็นแล้ว บอกเลยว่าเกมนี้แหละที่คุณกำลังตามหาอยู่
ใน Bear and Breakfast เราจะได้รับบทเป็นเจ้าหมีสีน้ำตาล “Hank” ที่ต้องการเปลี่ยนบ้านร้างให้กลายเป็นโฮมสเตย์กลางป่า เพื่อให้คนได้กลับมาเที่ยวและพักผ่อนได้ เราจะต้องสร้างห้องพัก, ห้องอาบน้ำ, รวมไปถึงแหล่งสันทนาการเพื่อรอต้อนรับแขกที่จะมาเข้าพัก แน่นอนว่าตัวเกมมีอะไรให้เราได้ทำที่ค่อนข้างเยอะมาก ๆ ตั้งแต่การจัดวางเฟอร์นิเจอร์ทั้งหมด ไปจนถึงการบริหารค่าไฟค่าน้ำ รายรับรายจ่าย และต้องทำเควสของเกมเพื่อเปิดเผยเรื่องราวและลูกเล่นต่าง ๆ ให้มากขึ้นไปพร้อม ๆ กันอีกด้วย
เกม Simulation ที่มี “เนื้อเรื่อง”
ในเกมแนว Simulation ส่วนใหญ่มักจะไม่มีเนื้อเรื่อง หรือถึงมีก็เป็นเพียงน้ำจิ้มที่แค่ช่วยขับเคลื่อนตัวเกมอยู่อย่างบาง ๆ เท่านั้น แต่สำหรับ Bear and Breakfast นั้นไม่ใช่ เพราะเนื้อเรื่องในเกมนี้นอกจากจะช่วยขับเคลื่อนตัวเกมแล้ว มันยังเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ทำให้เรา “รู้สึก” กับเกมนี้มากกว่าเกมทั่ว ๆ ไป
เรื่องราวในเกมเราจะได้รับบทเป็น Hank ลูกหมีหนุ่มใจดีขี้กลัวที่เชื่อฟังแม่ของเขาทุกอย่าง ร่วมกับ Anni และ Will สุนัขและนกเพื่อนสนิท วันหนึ่งแม่ของ Hank วานให้เขาไปเก็บดอกไม้ในป่า Blackmoss ที่อยู่ข้าง ๆ บริเวณบ้าน นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ Hank ได้พบกับ Fin ฉลามจากบริษัทจำนำ ที่อยากให้ Hank และเพื่อน ๆ มาช่วยทำรีสอร์ท เพื่อให้มนุษย์กลับมาเที่ยวอีกครั้ง.. จุดเริ่มต้นการเดินทางในโลกทุนนิยมของลูกหมีขี้กลัวจึงได้เริ่มขึ้น
ระบบการเล่นที่เหมือนเกมแนว “RPG”
ด้วยเรื่องราวในตัวเกมที่ค่อนข้างแน่น มีที่มาที่ไป ทำให้รายละเอียดในเกมนี้มีเยอะมาก และนั่นทำให้ตัวเกมใส่ระบบหลาย ๆ อย่างที่เหมือนกับระบบในเกม RPG ที่เราเคยเล่นเข้ามามากมาย อาทิเช่น ช่องเก็บของ Inventory, ระบบเควส, ตัวละคร NPC, ระบบไอเทม, และอื่น ๆ อีกมากมาย
ผมชอบระบบที่ชื่อว่า “Perk” ของเกมนี้มากครับ โดยเจ้าระบบ Perk เนี่ย มันเป็นเหมือนกับระบบที่ช่วยบอกว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ มีอะไรอยู่บ้าง หรือยังไม่ได้ทำอะไรบ้าง พูดง่าย ๆ มันก็คือหน้าจอสเตตัสในเกม RPG ดี ๆ เนี่ยแหละ แต่สำหรับในเกมนี้มันคือสมุดบันทึกที่แม่ของ Hank มอบให้ ตัว Perk จะประกอบไปด้วยรายการเควสที่เรามีทั้งหมด ยิ่งเราทำเควสหรือเดินเรื่องราวไปมากเท่าไร Perk ของเราก็จะยิ่งถูกอัปเกรด และปลดล็อคฟีเจอร์ต่าง ๆ ให้เราได้ใช้มากขึ้นเท่านั้น เช่น ช่องเก็บของ ส่วนลดร้านค้า ไปจนถึงการทำให้ตัวละครของเราวิ่งได้เร็วขึ้น เป็นต้น
“NPC” ในเกมนี้เป็นอีกส่วนที่ทำออกมาได้ค่อนข้างดี ตัวละครแต่ละตนจะมีคาแรคเตอร์เป็นของตนเอง ทั้งวิธีการพูด นิสัย ไปจนถึงเรื่องราวเบื้องหลัง ซึ่งจะบอกเล่าผ่านทางเควส ที่เราจะได้เข้าไปช่วยเหลือพวกเขาอยู่ตลอดทั้งเกม กล่าวได้ว่าระบบเควส ระบบ NPC ในเกมนี้คือส่วนหนึ่งที่ทำให้เรื่องราวและระบบต่าง ๆ ในเกมขับเคลื่อนไปข้างหน้า ผมคิดว่าส่วนนี้ค่อนข้างดีมาก ๆ ครับ คือ Bear and Breakfast เนี่ยเป็นเกมที่ค่อนข้างแน่นมาก ไม่ว่าจะเรื่องของเนื้อเรื่อง ปริศนา และระบบ การที่มีระบบค่อย ๆ ปลด ค่อย ๆ ให้ผู้เล่นได้เรียนรู้ไป มันทำให้เราสามารถสนุกกับเกมได้ง่ายและไม่หนักเกิน ถึงแม้ว่าในช่วงหลังระบบต่าง ๆ ในเกมจะมีมากมายเต็มไปหมดก็ตาม
ความแน่นของเกมทำให้เรามีอะไรทำอยู่ตลอดเวลา ทั้งเควส การบริหารจัดการรีสอร์ท สำรวจ คราฟไอเทม พูดคุยกับ NPC ไปจนถึงการปรับแต่งตัวละคร ที่แม้จะไม่มีผลต่อค่าสถานะใด ๆ แต่มีผลต่ออีเวนท์ที่สามารถเกิดขึ้นได้ Bear and Breakfast เป็นเกมที่มีอะไรมากมายให้เราได้สำรวจ ลองผิดลองถูก ไปจนถึงการสร้างสรรค์ที่อาจทำให้เราติดเกมนี้ได้แบบง่าย ๆ เลย
หัวใจสำคัญคือ “การสร้างรีสอร์ทกลางป่า”
แต่อย่างที่บอกไว้ตั้งแต่ต้นครับ Bear and Breakfast เป็นเกมแนว Simulation ดังนั้นจุดเด่นหรือจุดแข็งของเกมนี้จึงเป็นเรื่องของ “การสร้างรีสอร์ท” ที่มีระบบ RPG และเนื้อเรื่องเป็นส่วนประกอบหนึ่ง ที่ทำให้ระบบส่วนนี้แน่นขึ้นและลึกแบบมาก ๆ
ในการสร้างรีสอร์ทพัฒนารีสอร์ทของเราภายในเกมจะถูกขับเคลื่อนด้วยระบบเควส โดยเราจะไม่ได้สร้างหรือดูแลรีสอร์ทเพียงที่เดียว แต่จะได้เดินทางไปสร้างรีสอร์ทหลาย ๆ ที่ตามที่เควสระบุ โดยรีสอร์ทที่สร้างไว้ทั้งหมด ยังมีการมอบเควสให้เรากลับไปรับมาทำได้อีกด้วย เมื่อเราดำเนินเกมไปนาน ๆ แมปของเราก็จะกว้างขึ้น การเดินทางไปที่ต่าง ๆ จะทำได้ผ่านระบบ Fast Travel ที่ช่วยให้เราวาปไปสถานที่นั้น ๆ ได้เลย แต่ใช่ว่าจะใช้ระบบนี้ได้เลยนะ แผนที่ตรงนั้นเราจะต้องซ่อมป้ายรถเมล์ให้กลับมาใช้ได้ก่อน ถึงจะใช้ระบบ Fast Travel ได้ เนี่ยตรงนี้อย่างที่ผมบอกว่าตัวเกมทำได้ค่อนข้างดี ทุกสิ่งมีที่มาที่ไปและค่อนข้างแน่น
สำหรับการสร้างรีสอร์ทของเราให้ได้สำเร็จ มันจะมีตัวแปรสำคัญ ๆ อยู่ทั้งหมด 3 อย่าง ประกอบไปด้วย “เงิน”, “ไอเทม”, และ “ลูกน้อง”
เงิน – ใช้สำหรับซื้อของต่าง ๆ ตั้งแต่วัตถุดิบทำอาหาร อุปกรณ์ ไปจนถึงจ้างลูกน้องให้มาช่วยทำงานในรีสอร์ท
ไอเทม – ของสำหรับใช้สำหรับทำเควส บางอย่างใช้สำหรับนำไปแลกเป็นเฟอร์นิเจอร์ เพื่อนำมาประดับรีสอร์ทของเรา ซึ่งสำคัญมาก เพราะนอกจากประดับแล้วมันยังช่วยเพิ่มระดับให้ห้องที่มีเฟอร์นิเจอร์ชิ้นนั้น ๆ อยู่อีกด้วย
ลูกน้อง – เหล่า NPC ที่เราต้องจ้างเพื่อให้มาช่วยดูแลรีสอร์ท พวกนี้เราสามารถหาได้จากการทำเควสและจ่ายค่าจ้าง ซึ่งพวกเขาจะเข้ามาช่วยทำงานจิปาถะต่าง ๆ ของเราให้ทั้งหมด เช่น หาไอเทม รับหน้าลูกค้า และอื่น ๆ เป็นต้น
การสร้างรีสอร์ทสำเร็จไม่สำเร็จ จะขึ้นอยู่กับคะแนนความพอใจของลูกค้า ซึ่งส่วนหนึ่งก็มาจากการตกแต่งเฟอร์นิเจอร์ของเราเนี่ยแหละ โดยถ้าสำเร็จเราก็จะสามารถจบเควสเพื่อไปทำเควสพัฒนารีสอร์ทในส่วนอื่นหรือที่อื่นต่อได้แต่ความสนุกของการพัฒนารีสอร์ทในเกมนี้จริง ๆ คือการพัฒนารีสอร์ทให้ครบตามที่เควสระบุเนี่ยแหละ ทั้งเฟอร์นิเจอร์เฉพาะ การจัดวางห้อง บางห้องไม่สามารถสร้างติดกันได้ บางอย่างต้องทำให้สามารถใช้งานพร้อมกันหรือร่วมกันได้เป็นต้น นอกจากนี้เรายังต้องทำอาหารมาเสิร์ฟให้ลูกค้าด้วยนะ ซึ่งจะทำอาหารได้ก็ต้องมีห้องครัว วัตถุดิบ และเครื่องมือต้องครบ ไม่งั้นจะทำอาหารไม่ได้ ยังไม่หมดเท่านั้น เรายังต้องสร้างจุดแลนด์มาร์ก ที่จะช่วยให้ผู้คนมาเที่ยวมากขึ้นอีก เรียกได้ว่าระบบแน่นมาก ไม่ปล่อยให้เราว่างเลยละ
สรุป
Bear and Breakfast เป็นเกมที่ซื้อมาเล่นแล้วคุ้มมากครับ เรื่องแรกเลยเนื้อเรื่องของเกมที่ค่อนข้างแน่น มีที่มาที่ไป ทำให้เราอินกลับตัวเกมได้ง่าย ๆ และยังช่วยให้เห็นการเติบโตของตัวละครของเราและคนอื่น ๆ อย่างเห็นได้ชัด ระบบการเล่นอื่น ๆ ก็ค่อนข้างครบถ้วนและสมเหตุสมผล มีเป้าหมายมีอะไรให้เราทำเสมอ เป็นเกมดูดเวลาเกมหนึ่งได้เลย
Bear and Breakfast เหมาะกับคนที่ชอบ “เสพเนื้อเรื่องและชอบทำอะไรตามที่เป้าหมายมอบให้” เพราะในเกมจะค่อนข้างหนักไปที่ระบบเควสมาก ๆ ทุกสิ่งอย่างขับเคลื่อนด้วยเควส นั่นหมายความว่า เกือบทุกอย่างในเกมเราต้องทำตามที่ระบบบอก ตัวเกมจึงจะดำเนินต่อไปได้นั่นเอง ถือเป็นเกมที่จำกัดอิสระการเล่นอยู่พอสมควร ใครที่ชอบเกมที่มอบอิสระให้มาก ๆ เช่นแนว Sandbox อาจไม่ชอบเกมนี้เลย เพราะการทำนอกเหนือจากเป้าหมายในเกมนี้ จะแทบถือว่าทำไม่สำเร็จเลยก็ว่าได้ แต่ถ้าใครที่ชอบอะไรที่มีเป้าหมายให้ตลอด ไม่ต้องมานั่งคิดว่าต้องทำอะไรด้วยตัวเอง Bear and Breakfast เนี่ยแหละใช่เลย
อย่างไรก็ตามตัวเกมก็ไม่ได้บังคับอะไรเราขนาดนั้น เรายังจำเป็นต้องวางแผนว่าจะทำอะไรก่อนหลังอยู่ดี